ประเภทของครีมกันแดด
ครีมกันแดด คือ ครีมที่มีส่วนผสมของสารกันแดด ทำหน้าช่วยปกป้องผิวหนังจากรังสี UV (Ultraviolet) มีทั้งเป็นเนื้อครีม เจล โลชั่น โฟม ตามความต้องการและสภาพผิวของผู้ใช้ เช่น เนื้อครีมจะเหมาะกับผู้ที่มีผิวแห้ง เพราะจะผสมมอยส์เจอไรเซอร์ เนื้อเจลและโลชั่นจะเหมาะกับผู้มีผิวมันเพราะมีส่วนผสมของน้ำมากขึ้น เนื้อโฟมจะผสมรองพื้น สูตรน้ำแบบมีและไม่มีแอลกอฮอล์จะเหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบความเหนียวเหนอะหนะ
ในเริ่มแรกครีมกันแดดเริ่มผลิตขึ้นสำหรับคนผิวขาวที่นิยมอาบแดด เพื่อให้มีผิวสีแทน แต่กลับได้ผื่นแดงและผิวไหม้เกรียมจากแดดมาด้วย ครีมกันแดดในระยะแรกจึงเหมือนมีไว้เพื่อป้องกันอาการเหล่านั้น ซึ่งเกิดจากรังสี UVB นั่นเอง สารที่นิยมใช้ป้องกันรังสี UVB ได้แก่ Aminobenzoic acid (PABA), Homosalate, Cinoxate, Octyl methoxycinnamate, Octyl salicylate, Padimate O, Phenylbenzimidazole sulfonic acid, Trolamine salicylate, Methyl anthralinate ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยดูดซับแสงไว้
ในปัจจุบันครีมกันแดดได้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้น คือ ผสมสารที่ป้องกันรังสี UVA ไว้ด้วย เพราะ UVA ทำให้เกิดผิวหมองคล้ำ ซึ่งเกิดจากเม็ดสีเมลานินที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้นมาเองเพื่อป้องกันรังสี UVA รวมทั้ง UVA ยังทำให้เกิดเกิดอนุมูลอิสระที่เซลล์ผิวหนัง ทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินที่ชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยจากแดด สารที่ใช้เพื่อป้องกันรังสี UVA ได้แก่ Oxybenzone, Parsol 1789, TiO2, ZnO, Mexoryl SX, XL, Tinosorb M,S ซึ่งมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสง และควรมีอย่างน้อย 2 ชนิดในผลิตภัณฑ์นั้น โดยสังเกตได้จากสัญลักษณ์ PA และจำนวนเครื่องหมาย + หรือจากส่วนผสมบนฉลากก็ได้ ประเภทของครีมกันแดดสามารถแบ่งตามคุณสมบัติได้ดังนี้
1. Chemical Sunscreen จะมีส่วนผสมของสารกลุ่มที่ป้องกันรังสี UVB เพื่อช่วยดูดซับแสงไว้ หรือช่วยป้องกันผื่นแดงหรือผิวไหม้เกรียมจากแดด โดยจะวัดได้จากค่า SPF (Sun Protective Factor) หรือระยะเวลาที่ผิวจะทนต่อ UVB ได้ เช่น SPF 15 ถ้าความสามารถในการทน UVB ก่อนที่ผิวจะได้รับความเสียหายจาก UVB ของบุคคลนั้นทนได้ 15 นาที ก็จะทนได้มากขึ้นอีก 15 เท่า คือ 15x15 = 225 นาที หรือ 3.45 ชม. แต่เป็นการคำนวณจากการทดลองในห้องปฏิบัติการซึ่งสภาวะภายนอกย่อมแตกต่างกว่า และขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำอยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้สารกันแดดสลายตัวก่อนเวลาที่คำนวณได้ แต่มิใช่ว่า SPF สูงจะดีมาก เพราะนั่นหมายถึงว่ามีสารเคมีอยู่มาก อาจทำให้แพ้และระคายเคืองได้ง่าย
2. Physical Sunscreen จะมีส่วนผสมของสารที่มีคุณสมบัติป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้ โดยจะสะท้อนรังสีออกไปจากผิว และระคายเคืองน้อยกว่ากลุ่ม Chemical Sunscreen เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่สามารถให้ค่า SPF ที่สูงได้ สารกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ไปเคลือบผิวเพื่อรอการสะท้อน แต่ถ้าทามากเกินไปจะดูขาวผิดปกติ เนื่องจากสารคอยทำหน้าที่สะท้อนแสงอยู่แล้ว สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ Titanium dioxide, Zinc Oxide
3. Chemical-Physical Sunscreen เป็นการผสมคุณสมบัติในส่วนที่ดีของทั้งสองประเภท ลดความระคายเคือง และลดความขาวหลังจากทาครีม คือ ใช้สารที่ป้องกัน UVB และสารที่ป้องกัน UVA ในปริมาณที่พอเหมาะ และใช้สารที่ป้องกันได้ทั้ง UVB และ UVA เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการกันแดดได้ดี
ก่อนที่จะเลือกใช้ครีมกันแดด จะต้องเข้าใจสภาพผิวของตัวเองและจุดประสงค์ของการใช้ เช่น ต้องการผิวสีแทนแต่กลัวผื่นแดงและผิวไหม้เกรียม ก็เลือกใช้แบบ Chemical Sunscreen ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่นิยมอาบแดด ถ้าผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ไม่มาก เช่น SPF 15 แต่ถ้าต้องการป้องกันรังสีทั้ง UVB และ UVA ก็สามารถเลือกที่มีคุณสมบัติครบทั้งสองได้ รวมทั้งการเลือกเนื้อครีมแบบต่าง ๆ ให้เหมาะกับสภาพผิวของตัวเองว่าเหมาะกับเนื้อโลชั่น เนื้อเจล หรือเนื้อครีม และควรทาครีมกันแดดให้สม่ำเสมอ ทาซ้ำบ่อย ๆ เมื่อต้องออกแดด จะช่วยให้การปกป้องผิวได้ดีมากขึ้น
วันที่: Sat Apr 05 22:50:32 ICT 2025
|
|
|